พิเศษ

โปรโมชั่น

    เจาะลึกเคล็ดลับการสอบ IELTS (Part Writing)

    ในการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ IELTS  (International English Language Testing System) นั้น พาร์ทที่ถือว่ายากที่สุดสำหรับผู้สอบหลายๆคน คือ พาร์ทการเขียน (Writing) เนื่องจากการที่จะได้คะแนนมานั้น ต้องมาจากการใช้ทักษะทั้งด้านความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำศัพท์ที่เหมาะสม ใช้ไวยากรณ์หรือโครงสร้างประโยคที่ถูกต้อง การใช้ความสามารถในการอธิบายความ รวมไปถึงการใช้ตรรกะความคิดของผู้เขียน ในการบรรยายคำตอบในประเด็นคำถามที่ได้มาอย่างเป็นเหตุเป็นผลผ่านตัวอักษรอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คะแนนเฉลี่ยของผู้สอบในพาร์ทนี้จะต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพาร์ทอื่นๆ

    ไปที่หน้าหลักสูตร IELTS ที่นี่

    วันนี้ เราจะมาเจาะลึกในประเด็นที่หลายคนสงสัย รวมไปถึงเทคนิควิธีการที่จะช่วยให้คุณเตรียมความพร้อมในการสอบ IELTS ในพาร์ทการเขียน (Writing) ได้อย่างมั่นใจ และช่วยให้คุณพิชิตคะแนนออกมาได้ดียิ่งขึ้นกันค่ะ

    1.มาทำความรู้จักข้อสอบ IELTS: Part Writing ให้มากยิ่งขึ้น

    ในการเตรียมความพร้อมก่อนจะสอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการค้นหาข้อมูลเบื้องต้นที่ควรจะทราบ เพื่อที่ผู้สอบจะได้เตรียมตัวอย่างถูกต้อง ไม่หลงทาง หรือเสียเวลากับสิ่งที่ไม่อยู่ในข้อสอบ สำหรับการสอบ IELTS: Part Writing นั้น จะมีข้อสอบอยู่ 2 ข้อ และมีระยะเวลาในการสอบ 60 นาที

    ลักษณะของข้อสอบมีดังต่อไปนี้:

    ข้อที่ 1: ในข้อที่ 1 นี้ จะเป็นการทดสอบโดยการให้ผู้เขียน เขียนบทความเพื่ออธิบายความหมายจากกราฟ ตาราง แผนผัง แผนที่ หรือแผนภูมิ โดยกำหนดว่า จะต้องมีการเขียนอย่างน้อย 150 คำในบทความข้อนี้

    ตอบอย่างไรให้ได้คะแนน? : ในข้อนี้ ขอให้ผู้สอบเน้นไปที่การอธิบายบรรยายความจากสิ่งที่ได้มา ในเชิงความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน อาจใช้การเปรียบเหมือนหรือเปรียบต่าง การอธิบายข้อมูลที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง ดึงประเด็นโดยเขียนในสิ่งที่เป็นจุดสังเกตหรือจุดที่มีความน่าสนใจ โดยทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจรูปภาพที่ให้ไปผ่านการเขียนของคุณได้ สำหรับพาร์ทนี้ ผู้สอบควรใช้เวลาในการทำไม่เกิน 20 นาที

    ตัวอย่างข้อสอบ IELTS: Part Writing รูปแบบที่ 1:

    ข้อที่ 2: ในข้อที่ 2 จะเริ่มเป็นการเน้นการเขียนเชิงเรียงความ โดยข้อสอบกำหนดให้เขียนอย่างน้อย 250 คำในข้อนี้ คำถามจะเน้นไปที่การให้ผู้เขียนแสดงความคิดเห็น โต้แย้ง แนะนำการแก้ไขปัญหา หรือสนับสนุนพร้อมกับแนวคิดหรือความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

    ตอบอย่างไรให้ได้คะแนน?: ในข้อนี้ นอกจากการที่ผู้สอบจะต้องเขียนความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ โดยใช้คำศัพท์ที่เป็นทางการ มีความหมายที่เหมาะสม ใช้ไวยากรณ์หรือโครงสร้างประโยคอย่างถูกต้องแล้ว ยังจะต้องมีทักษะทางด้านความคิดในเชิงประจักษ์ เน้นความเป็นเหตุเป็นผล และมีตัวอย่างมา support เพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามและมีความเชื่อถือในคำตอบที่เขียนไปอีกด้วย

    การเขียนคำตอบในข้อนี้ ผู้สอบสามารถใช้ความรู้ความเข้าใจ ทักษะที่เกี่ยวข้อง หรือความคิดเห็นของตนเองในการตอบได้อย่างเต็มที่ ขึ้นอยู่กับโจทย์แต่ละข้อว่าต้องการให้ตอบในรูปแบบใด โดยมากแล้วสามารถใช้การแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผล,การวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย, การให้เหตุผลเชิงสัญญะ หรือการหาทางออกให้กับปัญหา เป็นต้น

    ตัวอย่างข้อสอบ IELTS: Part Writing รูปแบบที่ 2:

    Society is based on rules and laws. It could not function if individuals were free to do whatever they wanted to do. To what extent do you agree or disagree?

    In the modern world, it is possible to shop, work, and communicate online without any face-to-face contact with other people. Is this a positive or negative development?

    Allowing young children to do an enjoyable activity can develop better skills and more creativity than reading. To what extent do you agree?

    2.เกณฑ์การให้คะแนนการสอบ IELTS: Part Writing

    นอกจากการทำความรู้จักลักษณะข้อสอบแล้ว สิ่งสำคัญและห้ามละเลยในการเตรียมตัวสอบอีกอย่างหนึ่งคือ เกณฑ์การให้คะแนน เพื่อจะเป็นไกด์ไลน์ในการเตรียมตัวและการเขียนคำตอบได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และถูกใจคณะกรรมการ

    สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนการสอบ IELTS ในพาร์ท Writing มีดังต่อไปนี้

    1.Task Achievement (TA) หรือ Task Response (TR): ในเกณฑ์แรกที่ผู้สอบต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การตอบให้ตรงคำถาม และทำตามที่โจทย์สั่งอย่างถูกต้อง หากผู้สอบต้องการพิชิตคะแนนในด่านแรก การเขียนจะต้องไม่นอกประเด็นออกจากโจทย์คำถามที่มีให้ รวมไปถึง จะต้องเขียนตามกำหนดที่โจทย์มีให้ เช่น ให้เขียนอย่างน้อย 150 คำ ผู้สอบก็จะต้องเขียนมากกว่า 150 คำเพื่อไม่ให้ถูกหักคะแนนจากหลักเกณฑ์นี้ เป็นต้น

    1. Coherence and Cohesion (CC): ในเกณฑ์นี้ จะเน้นไปที่การเขียนจะต้องมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงต่อกัน มีความสอดคล้องในเนื้อหาสาระที่เขียน อ่านแล้วมีความเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน นอกจากนี้ ผู้สอบยังต้องให้ความสำคัญกับการใช้ Transition words อีกด้วย

    Transition words คือ คำที่ใช้ในการเชื่อมประโยคเพื่อบอกความเชื่อมโยงที่มีต่อกัน และเป็นการสื่อสารเนื้อหาที่มีความซับซ้อนให้ง่ายขึ้น กล่าวคือ มีเนื้อหาที่ชัดเจน เรียงตามลำดับอย่างถูกต้อง และมีเนื้อความที่สอดคล้องซึ่งกันและกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ออกนอกประเด็นนั่นเอง

    ตัวอย่าง Transition words ที่มักใช้ในการเขียน:

    การเชื่อมประโยคที่มีใจความเหมือนกัน: and/also = และ

    In addition = นอกเหนือไปจากนี้

    Moreover = นอกเหนือไปจากนี้

    Identically = ที่เหมือนกัน

    Similarly = เช่นเดียวกันนั้น

    การเชื่อมประโยคที่มีใจความขัดแย้งกัน: But = แต่

    Unlike = ในทางตรงกันข้ามกับ

    Nevertheless = แม้ว่า

    Meanwhile = ในขณะเดียวกันนั้น

    However = อย่างไรก็ตาม

    Although = ถึงแม้ว่า

    On the other hand = ในทางกลับกัน

    Despite = ทั้งๆที่

    By comparison = ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว

    In contrast = ในทางกลับกัน

    Yet = แต่

    Even though = ถึงแม้ว่า

    การเชื่อมประโยคในเชิงสรุปหรือบอกผลลัพท์ : Therefore = ดังนั้น

    Hence = ดังนั้น

    Thus = ดังนั้น

    Consequently = ผลลัพธ์ที่ตามมา

    As a result = ผลลัพธ์ที่ตามมา

    So = ดังนั้น

    1. Lexical Resources (LR): เกณฑ์ข้อนี้จะเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการใช้คำศัพท์ในการเขียน โดยวัดว่า คำศัพท์ที่ใช้นั้นมีความถูกต้อง เหมาะสมตามบริบทของการเขียนหรือไม่ นอกจากนี้ยังดูว่าคำศัพท์ที่เขียนไปสะกดถูกต้องหรือไม่อีกด้วย ดังนั้น ผู้สอบจึงควรระมัดระวังในเรื่องของคำและตัวสะกดอย่างมาก

    ทริคเล็กๆน้อยๆที่อาจช่วยให้คุณได้คะแนนจากเกณฑ์การสอบข้อนี้ คือ การใช้คำศัพท์ที่เป็นทางการ มีความเฉพาะทาง หรือเป็นคำศัพท์ที่ใช้กันน้อย ไม่เห็นบ่อย แต่ถูกต้องจากบริบทการเขียน ก็จะทำให้คุณพิชิตคะแนนในส่วนนี้ได้มากยิ่งขึ้น หากเปรียบเทียบกับการใช้คำศัพท์ที่เห็นบ่อยและไม่เป็นทางการ

    1. Grammatical Range and Accuracy (GRA): เกณฑ์สุดท้ายที่สำคัญอย่างมากในการเขียนทุกประเภท คือ การใช้ไวยากรณ์ที่มีความถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทในการเขียน มีรูปประโยคที่เป็นเชิงซ้อน (Complex sentences) ใช้คำเชื่อมที่ถูกต้องและมีความหลากหลาย เรียกได้ว่า ยิ่งมีความพิเศษในการเขียนและเขียนได้อย่างถูกต้องมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งได้คะแนนดีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ผู้สอบจึงควรศึกษาการเขียนจากการอ่านบทความ ซึ่งอาจเป็นบทความทางวิชาการที่เฉพาะทาง หรือการอ่านบทความข่าวจากสำนักข่าวชื่อดังของต่างประเทศ (BBC,CNN เป็นต้น) ที่จะสามารถให้ไอเดียรูปแบบประโยคที่เขียนออกมาแล้วน่าสนใจ น่าดึงดูดใจผู้อ่าน และมีความพิเศษมากกว่าการเขียนแบบปกตินั่นเอง

    3.Proofreading ปิดท้ายก่อนส่งคำตอบ

    ความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในการสอบ ดังนั้น การตรวจทานเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ผู้สอบไม่ควรละเลยอย่างยิ่งหากมีเวลาเหลือ โดยผู้สอบสามารถใช้วิธีการทบทวนคำตอบจากการอ่านแบบ Skimming

    การอ่านแบบ Skimming คือการอ่านแบบรวดเร็วเพื่อต้องการข้อมูลโดยทั่ว ๆ ไป (general information) โดยจะไม่อ่านทุกตัวอักษร เป็นการอ่านข้าม ๆ แต่สามารถจับใจความสำคัญได้ การอ่านแบบนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพกว้างจากสิ่งที่คุณเขียนตอบไป และเห็นความเชื่อมโยงของคำตอบ หากคุณรู้สึกว่าเกิดความไม่เชื่อมโยง หรือใช้คำเชื่อมที่ผิด ไม่เหมาะสม ก็สามารถแก้ไขได้ในขั้นตอนนี้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึง คำศัพท์ที่เขียนผิด สะกดผิด (misspelled) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้คะแนนของคุณถูกลดลง ดังนั้น การ Proofreading ปิดท้ายเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยอุดรูรั่ว และทำให้คะแนนของคุณออกมาได้อย่างน่าพอใจค่ะ

    สำหรับการสอบเขียน IELTS นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม และความคุ้นชินกับการเขียนภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากคุณมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก แต่ต้องการให้คะแนนออกมาดีที่สุด การเรียนพิเศษอาจเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะทำให้คุณได้คะแนนในส่วนนี้ตามที่คาดหวังไว้ได้ค่ะ หากคุณสนใจที่จะเรียนให้สอบได้คะแนน IELTS ที่คุณต้องการ ที่โรงเรียนสอนภาษาอินไซท์ (Insight) เรามีหลักสูตรเตรียมสอบ IELTS ที่ดีที่สุดจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญที่สุด ลงทะเบียนกับเราวันนี้ เพื่อรับโปรโมชั่นสุดพิเศษ สำหรับ เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ และเรียนตัวต่อตัว

    พิเศษ

    โปรโมชั่น